สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง
Laem Chabang Port Customs Office
 

พิธีการทางศุลกากร

เรื่องน่ารู้

รายงานสถิติและข่าวสาร

สถิติการเข้าชมเว็บ

  • 42 เข้าชมวันนี้
  • 2,068 เข้าชมเดือนนี้
  • 182,142 เข้าชมทั้งหมด
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ :
สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง
เลขที่ 919 ต.ทุ่งสุขลา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี 20230
หมายเลขโทรศัพท์ 038-407777 โทรสาร : 038-407702
email : 71000000@customs.go.th

1542338157403.png

การส่งของทางไปรษณีย์/พัสดุเร่งด่วน

การส่งของทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศ จะผ่านการดำเนินการโดย บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด

การส่งของทางไปรษณีย์ สามารถดำเนินการได้ 5 ประเภท คือ (1)ทางอากาศ (2)ภาคพื้น (3) EMS (4)ไปรษณีย์ลงทะเบียน (5)ไปรษณีย์ธรรมดา ของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรไทย จะถูกคัดแยกออกเป็น 3 ประเภท และ ปฏิบัติพิธีการศุลกากร ดังนี้

ประเภทที่ 1 คือ ของซึ่งแต่ละหีบห่อมีราคารวมค่าขนส่งและค่าประกันภัยไม่เกิน 1,500 บาท หรือตัวอย่างสินค้าที่ใช้ได้แต่เพียงเป็นตัวอย่างและ ไม่มีราคาในทางการค้า และไม่เป็นของต้องห้ามหรือต้องกำกัดในการนำเข้า เป็นของยกเว้นอากรขาเข้า ภาษีสรรพสามิต และ ภาษีมูลค่าเพิ่ม เจ้าหน้าที่ศุลกากรจะส่งมอบให้บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เพื่อนำจ่ายให้ผู้รับต่อไป

ประเภทที่ 2 คือ ของที่ส่งจากผู้ส่งคนหนึ่งถึงผู้รับคนหนึ่งในคราวเดียวกันหรือเข้ามาถึงพร้อมกัน ไม่ว่าจะมีจำนวนกี่หีบห่อหากมีราคา FOB (Free On Board) รวมกันไม่เกิน 40,000 บาท และไม่เป็นของต้องห้ามต้องกำกัด หรือของที่ต้องส่งตัวอย่างวิเคราะห์สินค้าก่อนปล่อย เป็นของต้องชำระอากร โดยเจ้าหน้าที่ศุลกากรเปิดตรวจของต่อหน้าเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ไทย จำกัด ประเมินราคาและค่าภาษีอากรทุกประเภท เจ้าหน้าที่ศุลกากรส่งมอบของให้ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เพื่อนำจ่ายให้ผู้รับ ณ ที่ทำการไปรษณีย์ใกล้ที่อยู่ของผู้รับ ผู้รับของ นำ "ใบแจ้งให้ไปรับสิ่งของส่งทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศ" ที่ระบุที่ทำการไปรษณีย์ให้ไปติดต่อรับของ / ชำระภาษีอากร ไปชำระภาษีอากร ณ ที่ทำการไปรษณีย์ การโต้แย้งการประเมินภาษีอากร มีขั้นตอนการดำเนินการ ดังนี้

  1. ให้ผู้รับของจัดทำคำร้องขอโต้แย้งการประเมินภาษีอากร ยื่นต่อที่ทำการไปรษณีย์ที่ไปติดต่อรับของ และ ยังไม่ต้องชำระค่าภาษีอากรแต่อย่างใด พร้อมแนบ "ใบแจ้งให้ไปรับสิ่งของส่งทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศ" และเอกสารที่เกี่ยวข้อง เช่น หลักฐานการซื้อขาย หลักฐานการชำระเงิน (ขอรับแบบฟอร์มคำร้องได้ที่ที่ทำการไปรษณีย์ หรือสามารถพิมพ์แบบคำร้องได้ที่ www.postalcustoms.com) ผู้รับของสามารถแจ้งความประสงค์ว่า จะรอรับแจ้งผลการพิจารณาจากบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัดและไปรับสิ่งของ ณ ที่ทำการไปรษณีย์ที่ระบุ หรือติดต่อขอทราบผลและรับสิ่งของด้วยตนเองที่ฝ่ายตรวจคัดไปรษณียภัณฑ์ ส่วนบริการศุลกากรไปรษณีย์ อาคารศูนย์ไปรษณีย์ด่วนพิเศษ (EMS) กรุงเทพมหานคร ซอยแจ้งวัฒนะ 5 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10020
  2. ที่ทำการไปรษณีย์จะส่งหีบห่อของที่ขอโต้แย้งการประเมินภาษีอากร พร้อมคำร้องขอโต้แย้งการประเมินภาษีอากรและเอกสารที่เกี่ยวข้อง ให้กับส่วนบริการศุลกากรไปรษณีย์เพื่อพิจารณา
  3. ส่วนบริการศุลกากรไปรษณีย์จะแจ้งผลการพิจารณาตามความประสงค์ที่ผู้รับของแจ้งไว้ กรณีไม่ได้แจ้งความประสงค์ จะแจ้งผลกลับมายังที่ทำการไปรษณีย์ที่ไปรับของ

ประเภทที่ 3 ของอื่นๆ นอกจากประเภทที่ 1 และ 2 เจ้าหน้าที่ศุลกากรจะส่งมอบของให้ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เพื่อนำไปเก็บรักษาในโรงพักสินค้า บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด หรือส่งไปที่ สำนักงาน/ด่านศุลกากรแล้วแต่กรณี ผู้รับของนำ "ใบแจ้งให้ไปรับสิ่งของส่งทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศ" ไปติดต่อรับของ / ชำระภาษีอากร ณ ส่วนบริการศุลกากรไปรษณีย์ หรือสำนักงาน/ด่านศุลกากรที่ระบุไว้ในใบแจ้งฯ การปฏิบัติพิธีการศุลกากรสำหรับของประเภทที่ 3 สามารถดำเนินการได้ 2 กรณี คือ

  1. กรณีของมีราคา FOB เกินกว่า 40,000 บาท ผู้รับของจะต้องจัดทำใบขนสินค้าขาเข้าโดยการส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เข้าระบบคอมพิวเตอร์ของกรมศุลกากร ซึ่งส่วนบริการศุลกากรไปรษณีย์ ได้จัดเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำการจัดทำใบขนสินค้าขาเข้า โดยมีผู้ให้บริการ Service Counter คอยให้บริการส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วย
  2. กรณีของมีราคา FOB ไม่เกิน 40,000 บาท ผู้รับของไม่ต้องจัดทำใบขนสินค้าขาเข้า เจ้าหน้าที่ศุลกากรจะประเมินราคาและจัดเก็บค่าภาษีอากร ณ จุดเดียวกัน
เอกสารที่ต้องใช้ในการขอรับสิ่งของ

  1. กรณีผู้มีชื่อรับของตามที่ระบุในใบแจ้งฯ ขอรับสิ่งของด้วยตนเอง
    1. ใบแจ้งให้ไปรับสิ่งของส่งทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศ
    2. บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรที่ทางราชการออกให้ หรือหนังสือเดินทาง (กรณีผู้รับของเป็นชาวต่างชาติ)
  2. กรณีมอบอำนาจให้ผู้อื่นรับสิ่งของแทน
    1. ใบแจ้งให้ไปรับสิ่งของส่งทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศ โดยให้ผู้มีชื่อรับของบันทึกรายละเอียดการมอบอำนาจให้แก่ผู้รับมอบอำนาจ พร้อมลงลายมือชื่อรับรองทั้ง 2 ฝ่าย ที่ด้านหลังใบแจ้งฯ
    2. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจ และลงนามรับรองสำเนา
    3. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ และลงนามรับรองสำเนา
  3. กรณีผู้รับสิ่งของเป็นนิติบุคคล เช่น บริษัท ห้างหุ้นส่วนจำกัด
    1. ใบแจ้งให้ไปรับสิ่งของส่งทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศ โดยให้ผู้มีอำนาจลงนาม พร้อมประทับตราบริษัทที่ด้านหลังใบแจ้งฯ
    2. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าของ หรือผู้จัดการ หรือสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มีอำนาจลงนามในเอกสารผูกพันนิติบุคคลนั้นๆ และลงนามรับรองสำเนา
    3. สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัท ห้างฯ ร้าน (ที่มีอายุไม่เกิน 6 เดือน) และ ลงนามรับรองสำเนาพร้อมประทับตราบริษัทฯ
    4. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ และลงนามรับรองสำเนา
    5. หมายเหตุ รับมอบอำนาจจะมอบอำนาจต่อให้บุคคลอื่นอีกมิได้

วิธีปฏิบัติสำหรับการส่งออกสินค้าทางไปรษณีย์

สามารถดำเนินการได้ 2 กรณี คือ

1. กรณีที่ไม่ต้องทำใบขนสินค้าขาออก ให้กระทำได้ ณ ที่ทำการไปรษณีย์ทุกแห่งตามระเบียบข้อบังคับของ บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด โดยไม่ต้องผ่านการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ศุลกากร ได้แก่ การส่งของดังต่อไปนี้

  • ไม่เป็นของต้องห้ามในการส่งออก
  • ไม่เป็นของต้องกำกัดในการส่งออก
  • ไม่เป็นของต้องเสียอากร หรือค่าภาคหลวงในการส่งออก
  • การส่งจากผู้ส่งคนหนึ่งไปถึงผู้รับคนหนึ่ง ไม่ว่าจะมีจำนวนกี่ห่อ มีราคารวมกันคราวหนึ่งไม่เกิน 10,000.- บาท สำหรับของทั่วไป หรือไม่เกิน 50,000.- บาท สำหรับเพชรพลอย เครื่องรูปพรรณทองคำ และเครื่องรูปพรรณทองคำขาว
  • มิใช่การส่งออกที่ขอคืนอากร หรือขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากร
  • มิใช่การส่งออกที่ขอใบสุทธิสำหรับนำกลับเข้ามา

2. กรณีไม่เป็นไปตามข้อ 1. ผู้ส่งออกต้องจัดทำใบขนสินค้าขาออกทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีขั้นตอน ดังนี้

  • ผู้ส่งออก ลงทะเบียนเป็นผู้ผ่านพิธีการศุลกากรหรือดำเนินการในกระบวนการศุลกากร ที่ ฝ่ายบริการศุลกากรไปรษณีย์ (กรณีที่ยังไม่เคยลงทะเบียนมาก่อน)
  • ผู้ส่งออกส่งข้อมูลใบขนสินค้าขาออกทางอิเล็กทรอนิกส์และใบกำกับการขนย้าย (โดยสามารถใช้บริการได้ที่เคาน์เตอร์เซอร์วิส) ชำระภาษีอากร (ถ้ามี) และ นำของมาให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ จากนั้นจึงนำของส่งออกไปฝากส่ง ณ ที่ทำการไปรษณีย์ นำหลักฐานการส่งออก แจ้งเจ้าหน้าที่ศุลกากรเพื่อรับรองการส่งออก

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
ส่วนบริการศุลกากรไปรษณีย์ สำนักงานศุลกากรกรุงเทพ กรมศุลกากร
111 ซอยแจ้งวัฒนะ 5 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10020
โทรศัพท์ 02 575 1002-3 โทรสาร 02 575 1011

การนำเข้า ส่งออก โดยผู้ประกอบการของเร่งด่วน (express consignment)

ผู้ประกอบการของเร่งด่วน (express consignment) คือ ผู้ที่กรมศุลกากรจดทะเบียนให้เป็นผู้รับผิดชอบการขนส่งเข้ามาใน หรือ นำออกไปนอก ราชอาณาจักร โดยให้บริการกับผู้รับฝากแบบ ประตูถึงประตู (DOOR TO DOOR) และต้องดำเนินพิธีการศุลกากรตามที่กรมศุลกากรกำหนดแทนผู้นำเข้าหรือ ผู้ส่งออก ผู้ประกอบการเร่งด่วน ได้แก่ Fed Ex, UPS, DHL, TNT

ของเร่งด่วนที่นำเข้ามาเข้ามาจากต่างประเทศ สามารถจัดแบ่งได้ 4 ประเภท ดังนี้

ประเภทที่ 1 เป็นเอกสาร

  • เป็นของที่ไม่ต้องเสียอากร ที่ไม่ต้องเสียอากร ตามภาค 2 พิกัดอัตราอากรขาเข้า แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 และไม่เป็นของต้องห้ามต้องกำกัด
  • ผู้ประกอบการของเร่งด่วนจัดทำใบขนสินค้าขาเข้าในนามของผู้ประกอบการของเร่งด่วน และ เมื่อผ่านการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ศุลกากรจะนำไปส่งให้ผู้นำเข้า

ประเภทที่ 2 ได้แก่ของดังต่อไปนี้

  • ของที่ไม่ต้องเสียอากรตามภาค 2 พิกัดอัตราอากรขาเข้าแห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 และไม่เป็นของต้องห้ามต้องกำกัด
  • ของที่นำเข้าซึ่งแต่ละรายมีราคาซีไอเอฟไม่เกิน 1,500 บาท ตามประเภท 12 ภาค4 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 และไม่เป็นของต้องห้ามต้องกำกัด
  • ตัวอย่างสินค้าที่ใช้ได้แต่เพียงเป็นตัวอย่างและไม่มีราคาในทางการค้า ตามประเภท14 ภาค 4 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 และไม่เป็นของต้องห้ามต้องกำกัด
    • เป็นของไม่ต้องเสียอากร หรือของที่ได้รับยกเว้นอากร
    • ผู้ประกอบการของเร่งด่วนจัดทำใบขนสินค้าขาเข้าในนามของผู้ประกอบการของเร่งด่วน และ เมื่อผ่านการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ศุลกากรจะนำไปส่งให้ผู้นำเข้า

ประเภทที่ 3 เป็นของที่จัดเข้าตามภาค 2 พิกัดอัตราอากรขาเข้าแห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 โดยแต่ละรายใบตราส่งสินค้าทางอากาศยาน (House Air Waybill) มีราคา FOB (Free On Board) ไม่เกิน 40,000 บาท และไม่เป็นของต้องห้ามของต้องกำกัดหรือของที่ได้รับยกเว้นอากรตามภาค 4 หรือของที่ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร หรือของที่ต้องส่งตัวอย่างวิเคราะห์สินค้าก่อนปล่อย

  • เป็นของต้องเสียอากร
  • ผู้ประกอบการของเร่งด่วนจัดทำใบขนสินค้าขาเข้าในนามของผู้ประกอบการของเร่งด่วน และ โดยผู้ประกอบการของเร่งด่วนจะเป็นผู้ชำระภาษีอากรตามพิกัดอัตราศุลกากรแทนผู้นำของเข้า เมื่อผ่านการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ศุลกากรจะนำไปส่งให้ผู้นำเข้า

ประเภทที่ 4 ของอื่น ๆ นอกจากของตามประเภทที่ 1 ประเภทที่ 2 และประเภทที่ 3

  • เป็นของต้องเสียอากร หรือ ของต้องกำกัด หรือ ของที่ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร หรือ ของที่ต้องส่งตัวอย่างก่อนปล่อย
  • ผู้นำของเข้าเป็นผู้จัดทำใบขนสินค้าขาเข้าในระบบพิธีการศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ และผ่านการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ศุลกากรก่อนนำของออกไปจากอารักขาศุลกากร
อ้างอิงจาก ประกาศกรมศุลกากรที่ 66/2561 เรื่อง การปฏิบัติพิธีการศุลกากร ณ เขตปลอดอากรท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

หมายเหตุ
ค่าขนส่งของที่ใช้กำหนดราคาศุลกากรในการปฏิบัติพิธีการศุลกากร สำหรับของเร่งด่วน ให้ปฏิบัติตามลำดับ ดังนี้

  1. ใช้ค่าขนส่งตามที่ปรากฏในบัญชีราคาสินค้า (Invoice) หรือหลักฐานการจ่ายค่าขนส่งของดังกล่าว
  2. กรณีบัญชีราคาสินค้า (Invoice) ไม่มีค่าขนส่งของหรือไม่มีเอกสารหลักฐานการจ่ายค่าขนส่งของ ให้ใช้อัตราค่าระวางบรรทุกทางอากาศยานเฉลี่ยตาม Zone ที่กรมศุลกากรประกาศให้ใช้สำหรับของเร่งด่วน ท่านสามารถตรวจสอบอัตราค่าขนส่งของ สามารถดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติมได้ตามลิงค์ด้านล่าง

การส่งออกของเร่งด่วน

ของเร่งด่วนที่ส่งออกไปต่างประเทศ สามารถจัดแบ่งได้ 3 ประเภท ดังนี้

ประเภทที่ 1 ได้แก่ เอกสารต่างๆ ที่ไม่ต้องเสียอากรตามภาค 3 พิกัดอัตราขาออก แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 และไม่เป็นของต้องห้ามต้องกำกัด ผู้ประกอบการของเร่งด่วนจัดทำใบขนสินค้าขาออกในนามของผู้ประกอบการของเร่งด่วน และ เมื่อผ่านการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ศุลกากรจะนำไปบรรทุกในอากาศยานเพื่อส่งออกไปนอกราชอาณาจักร

ประเภทที่ 2 ได้แก่ ของที่ส่งออกไปนอกราชอาณาจักรภายใต้เงื่อนไขต่อไปนี้

  1. เป็นของซึ่งไม่ต้องเสียอากรหรือได้รับยกเว้นอากร ตามภาค 3 พิกัดอัตราขาออก แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 โดยแต่ละรายใบตราส่งสินค้าทางอากาศยาน (House Air Waybil) มีราคา FOB (Free on Board) ไม่เกินฉบับละ 500,000 บาท
  2. ไม่เป็นของต้องห้ามต้องกำกัด หรือของต้องมีเอกสารการอนุญาต/อนุมัติ/รับรองในการปฏิบัติพิธีการศุลกากรตามกฎหมายหรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับศุลกากร
  3. ไม่เป็นของขอใช้สิทธิประโยชน์หรือสิทธิพิเศษทางภาษีอากรอื่นๆ เช่น เขตปลอดอากร คลังสินค้าทัณฑ์บน การคืนอากรทั่วไป การคืนอากรตามมาตรา 28 และมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 เขตประกอบการเสรีตามพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2550 การชดเชยค่าภาษีอากรตามพระราชบัญญัติชดเชยค่าภาษีอากรของส่งออกที่ผลิตในราชอาณาจักร พ.ศ. 2524 การยกเว้นหรือลดหย่อนอากรตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 เป็นต้น
  4. ไม่เป็นของซึ่งขอใช้สิทธิยกเว้นอากรตามภาค 4 ของที่ได้รับยกเว้นอากรตามภาค 4 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530
ผู้ประกอบการของเร่งด่วนจัดทำใบขนสินค้าขาออกในนามของผู้ประกอบการของเร่งด่วน และ เมื่อผ่านการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ศุลกากรจะนำไปบรรทุกในอากาศยานเพื่อส่งออกไปนอกราชอาณาจักร

ประเภทที่ 3 ของอื่นๆ นอกเหนือจากประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 ผู้ส่งออกจัดทำใบขนสินค้าขาออก และ เมื่อผ่านการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ศุลกากร จะสามารถนำของไปบรรทุกในอากาศยานเพื่อส่งออกไปนอกราชอาณาจักร

ที่มา : ประกาศกรมศุลกากร ที่ 130/2561 ลงวันที่ 8 พฤษภาคม 2561 เรื่อง การปฏิบัติพิธีการศุลกากรทางอิเล็กทรอนิกส์ว่าด้วยกระบวนการทางศุลกากรเกี่ยวกับของเร่งด่วน

 

ไฟล์แนบ : 1542338157403.png.pdf

วันที่ปรับปรุงล่าสุด : 10 กุมภาพันธ์ 2566 15:10:04
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง
เลขที่ 919 ต.ทุ่งสุขลา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี 20230
หมายเลขโทรศัพท์ : 038-407777
อีเมล์ : 71000000@customs.go.th

ข้อมูลบนเว็บไซต์นี้ อยู่ภายใต้ประกาศเงื่อนไขการใช้ข้อมูล และลิขสิทธิ์ ของสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง
ลิขสิทธิ์ 2015 สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง สงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งหมด @ออกแบบและพัฒนาโดยส่วนประมวลผลและคลังข้อมูล สำนักเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมศุลการ